วันวิสาขบูชา Vesak Day ตอน วันปรินิพพาน

หนฺท ทานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ นี่เป็นพระดำรัสสุดท้ายของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงรวบรวมพระโอวาททั้งปวงที่ได้ประทานมาตลอด ๔๕ พรรษานั้นลงในความไม่ประมาท https://dmc.tv/a1841

บทความธรรมะ Dhamma Articles > พุทธประวัติ - วันสำคัญในพระพุทธศาสนา
[ 26 พ.ค. 2550 ] - [ ผู้อ่าน : 18292 ]
 
วิสาขบูชา Vesak Day
ตอน วันปรินิพพาน
 

“หนฺท ทานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ 
 
    ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราผู้ตถาคตจักเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
 
    นี่เป็นพระดำรัสสุดท้ายของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงรวบรวมพระโอวาททั้งปวงที่ได้ประทานมาตลอด ๔๕ พรรษานั้นลงในความไม่ประมาท ประทานแด่ภิกษุสงฆ์พุทธบริษัทก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน สืบเนื่องจากเมื่อพระบรมโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พญามารได้เข้ามาทูลอาราธนาให้พระองค์ดับขันธปรินิพพาน คือไม่ยอมให้พระองค์ได้ทำหน้าที่โปรดเวไนยสัตว์ แต่พระพุทธองค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยมหากรุณาธิคุณได้ตรัสว่า 
 
    “ดูก่อนมารผู้ใจบาป ตราบใดสาวกทั้งหลายของตถาคต คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นพหูสูตทรงจำไว้ได้ซึ่งพระธรรมวินัย ศึกษาและปฏิบัติสืบต่อกันไป แสดงหลักธรรมคำสอนโปรดเวไนยสัตว์ ทั้งเทวดาและมนุษย์ให้หลุดพ้นสำเร็จมรรคผลนิพพานได้ ยังศาสนาให้แผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศแล้ว ตราบนั้น ตถาคตจะรับอาราธนาท่านเข้าสู่ปรินิพพาน”
 
    ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พญาวสวัตตีมารพยายามติดตามคอยหาโอกาสตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา เมื่อประสบโอกาส จึงเข้าไปกราบทูลให้เข้าสู่ปรินิพพานอีก ซึ่งในครั้งนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า
 
    “ดูก่อนมารผู้ใจบาป ท่านอย่าได้ทุกขโทมนัสไปเลย อีกไม่ช้าแล้ว ตถาคตก็จักปรินิพพาน นับจากนี้ล่วงไปอีก ๓ เดือนเท่านั้น ตถาคตก็จักเข้าสู่ปรินิพพาน”
 
        พญามารได้ฟังแล้ว ก็เกิดปีติโสมนัส แล้วอันตรธานหายไป ลำดับนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระสติสัมปชัญญะมั่นคง กำหนดปลงพระชนมายุสังขารในวัน  “มาฆปุรณมี ณ ปาวาลเจดีย์”  ว่า  “นับแต่นี้ไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจักดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน”
 
        เมื่อพระบรมครูกำหนดปลงอายุสังขารดังนั้น ได้บังเกิดเหตุมหัศจรรย์บันดาลให้แผ่นดินหวั่นไหว พระอานนทเถระเกิดความสงสัย จึงเข้าไปกราบทูลถามเหตุแห่งแผ่นดินไหวนั้น พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า 
 
เหตุให้เกิดแผ่นดินไหวนั้น มี ๘ ประการ คือ
  • ๑. ลมกำเริบ  
  • ๒. ท่านผู้มีฤทธิ์บันดาล  
  • ๓. พระโพธิสัตว์จุติจากดุสิตเทวโลกลงสู่พระครรภ์  
  • ๔.พระโพธิสัตว์ประสูติ  
  • ๕. พระตถาคตเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ 
  • ๖.พระตถาคตทรงแสดงพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร 
  • ๗. พระตถาคตเจ้าปลงอายุสังขาร 
  • ๘. พระตถาคตเจ้าปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน 
        ดูก่อนอานนท์ บัดนี้ ตถาคตรับนิมนต์จากพญาวสวัตตีมารให้ดับขันธปรินิพพานและปลงอายุสังขารแล้ว จากนี้ไปอีก ๓ เดือน ก็จะปรินิพพาน เพราะฉะนั้น แผ่นดินจึงไหว”
 
    พระอานนท์กราบทูลวิงวอนขอให้พระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยู่ต่อไปอีกจนสิ้นกัปหนึ่ง เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อความสุขแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระพุทธองค์ตรัสห้าม แต่พระอานนท์ก็ยังกราบทูลวิงวอนถึง ๓ ครั้ง พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า
 
        “ดูก่อนอานนท์ เธอเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของตถาคตหรือไม่”
 
        “ข้าพระองค์เชื่อ พระเจ้าข้า”
 
        “ดูก่อนอานนท์ ถ้าเธอเชื่อแล้ว เหตุไฉนจึงมาวิงวอนตถาคตถึง ๓ ครั้งเล่า”
 
        “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังพระองค์ตรัสว่า อิทธิบาทสี่ ผู้ใดเจริญจนชำนาญดีแล้ว ถ้าปรารถนาจะมีชีวิตยืนยาวตลอดกัปหนึ่งหรือมากกว่านั้นก็ย่อมกระทำได้ อิทธิบาทสี่นั้น พระองค์เจริญแคล่วคล่องชำนาญแล้ว พระองค์ก็สามารถจะดำรงพระชนม์อยู่ตลอดกัปหนึ่งหรือมากกว่าได้ ข้าพระองค์เห็นดังนี้ จึงกราบทูลวิงวอนถึง ๓ ครั้ง พระเจ้าข้า”
 
        “ดูก่อนอานนท์ ตถาคตทำนิมิตโอภาสให้เธอดูอย่างชัดแจ้งถึง ๑๖ ครั้ง เพื่อให้เธออาราธนาให้ตถาคตดำรงพระชนม์อยู่ แต่เธอก็ไม่รู้ในนิมิตนั้น และไม่ได้อาราธนาวิงวอนตถาคต ถ้าเธอทูลวิงวอนแล้ว ตถาคตก็จะห้ามเพียง ๒ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ ตถาคตก็จะรับคำอาราธนานั้น เพราะเธอไม่วิงวอนเสียแต่แรก จึงเป็นความบกพร่องของเธอเอง”
 
        พระบรมศาสดาได้ตรัสเล่าเรื่องนิมิตโอภาสที่ทรงแสดงให้อานนท์ดูถึง ๑๖ ครั้ง แต่เนื่องจากท่านพระอานนท์ถูกพญามารบดบังธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้เอาไว้ ทำให้ท่านลืมอาราธนาไปเสียสนิท  อย่างไรก็ตาม พระพุทธองค์ทรงยกใจท่านพระอานนท์ว่า
 
        “ดูก่อนอานนท์ สังขารทั้งหลายมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง และดับสูญสลายไปในที่สุด การระงับดับเสียซึ่งชาติและมรณะ คือพระปรินิพพานนั้นเป็นเอกันตบรมสุขอันหาสิ่งอื่นจะเสมอเหมือนมิได้”
 
    ข่าวการปลงอายุสังขารได้แพร่กระจายไปในหมู่ภิกษุสงฆ์ และลือกระฉ่อนไปถึงเหล่าพุทธบริษัท ผู้ที่เป็นปุถุชนอยู่ครั้นได้สดับแล้วก็ตกใจเสียใจร้องไห้ เพราะไม่อยากให้พระพุทธองค์ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกจากไปเร็วนัก ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลายต่างก็เกิดธรรมสังเวชว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ แม้แต่สังขารของพระบรมศาสดายังต้องแตกสลายไปในที่สุด
 
    ภายใน ๓ เดือนก่อนการเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ตอบปัญหาแก่เหล่าพุทธบริษัททั้งมนุษย์และเทวดาที่ทยอยมาเข้าเฝ้าจนคลายความสงสัย ทรงสะสางเรื่องราวทุกอย่างเพื่อให้พระพุทธศาสนาปักหลักมั่นเป็นหลักชัยของมนุษยชาติตราบนานเท่านาน เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงให้โอกาสแก่สงฆ์ทั้งปวงที่ประชุมกัน ได้ทูลถามข้อข้องใจสงสัยต่างๆ แต่ก็มิได้มีภิกษุองค์ใดกราบทูลถาม พระอานนท์จึงกราบทูลว่า 

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุแม้เพียงรูปหนึ่ง ที่มีความสงสัยในพระรัตนตรัย ในมรรคและปฏิปทา ไม่มีเลย ข้อนี้นับเป็นสิ่งอัศจรรย์อย่างยิ่ง”
  
    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเห็นว่าเหล่าพระสาวกไม่มีใครสงสัยในธรรมวินัยของพระองค์แล้ว จึงได้ประทานปัจฉิมโอวาทเป็นอมตะวาจาว่า
 
    “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราผู้ตถาคตจักเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
 
    เมื่อพระบรมศาสดาประทานปัจฉิมโอวาทอันเป็นอมตะวาจาเสร็จสิ้นแล้ว ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ก็มิได้ตรัสอะไรอีกเลยทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้วเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้วเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้วเข้าจตุตถฌาน และออกจากจตุตถฌานตามลำดับ ครบองค์รูปาวจรสมาบัติ ทรงออกจากฌานที่ ๔ แล้วเข้าอรูปาวจรสมาบัติ ๔ คือ เข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะ เข้าวิญญานัญจายตนะ ออกจากวิญญานัญจายตนะ เข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนะ เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ดับจิตสังขาร ทรงเข้าอนุปพพวิหารสมาบัติด้วยประการฉะนี้
 
    ณ ที่นั้น ท่านพระอนุรุทธเถระผู้เลิศด้วยทิพยจักษุอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย ท่านปรารถนาจะดูการเสด็จปรินิพพานของพระบรมศาสดา จงเข้าสมาบัติตามเสด็จไปทุกห้องแห่งสมาบัตินั้นๆ  ส่วนพระอานนท์เห็นพระพุทธองค์สงบนิ่งอยู่ จึงถามพระอนุรุทธเถระว่า
 
    “อนุรุทธ พระบรมครูเข้าสู่พระปรินิพพานแล้วหรือ”
 
    “ยังไม่ปรินิพพาน อานนท์ พระองค์กำลังอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ”
 
    สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ในนิโรธสมาบัติตามเวลาที่ทรงกำหนดแล้ว ออกจากนิโรธสมาบัติ ย้อนกลับสู่อรูปฌานสี่โดยปฏิโลม แล้วเข้าสู่รูปาวจรฌานทั้ง ๔ โดยปฏิโลมตามลำดับเช่นกัน ครั้นออกจากปฐมฌานแล้ว เข้าทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อออกจากจตุตฌานในครั้งนี้ 
 
    “พระบรมศาสดาก็..ปรินิพพาน..!!!” ณ เวลาปัจฉิมยามแห่งราตรี ในวันวิสาขปุรณมี ดิถีเพ็ญเดือน ๖ ด้วยประการฉะนี้ 
 
    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวคาถานี้พร้อมกับกาลเป็นที่ปรินิพพานว่า  “สัตว์ทุกหมู่เหล่า จักทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก พระตถาคตผู้ศาสดา ผู้หาบุคคลเปรียบมิได้ในโลก  เป็นพระสัมพุทธะผู้เปี่ยมด้วยพระสัพพัญญุตญาณเช่นนี้ ยังปรินิพพานแล้ว”
 
    ฝ่ายท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ของทวยเทพได้กล่าวคาถานี้ พร้อมกับกาลเป็นที่ปรินิพพานว่า  “สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น และเสื่อมไปเป็นธรรมดาเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความเข้าไปสงบสังขารเหล่านั้นเป็นสุข”
 
    ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย การเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระบรมศาสดานั้น ทำให้เราได้ตระหนักว่า   สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้  ที่มีการเกิดขึ้น  ตั้งอยู่และเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ แม้กระทั่งตัวของเราเอง ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา  บังคับบัญชาไม่ได้
 
    ดูอย่างพระพุทธองค์ผู้เปี่ยมล้นด้วยพุทธบารมีก็ยังต้องถึงวันสุดท้ายของชีวิต คือการเสด็จดับขันธปรินิพพาน แต่เพียงว่าพระพุทธองค์ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในภพสามอีกแล้ว มีแต่ไปเสวยเอกันตบรมสุขในอายตนนิพพานอย่างเดียว  พวกเราทั้งหลายจึงไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ควรมุ่งไปแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระที่แท้จริงของชีวิต แสวงหาสิ่งที่จะมาเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง ที่คงความเป็นอมตะ เที่ยงแท้ ไม่แปรผัน  คือมีลักษณะเป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา  ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีแต่สุขล้วนๆ  เป็นตัวของตัวเองได้  กิเลสอาสวะเข้ามาครอบงำบังคับบัญชาไม่ได้ และการที่จะเข้าไปถึงสิ่งที่เป็นอมตะนี้ได้  ท่านให้เข้าไปทางสายกลาง คือ “มัชฌิมา ปฏิปทา” ที่มีอยู่ภายในตัวของทุกคน ด้วยวิธีการทำใจให้หยุดนิ่ง  
 
    โอกาสนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนา ได้รู้จักหนทางแห่งความหลุดพ้น  เพราะฉะนั้น อย่าได้ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับสิ่งที่ไร้สาระ  ให้รีบประพฤติปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกภายใน คือพระรัตนตรัย ที่จะทำให้ชีวิตเราปลอดภัยและมีความสุขไปทุกภพทุกชาติ ตราบวันเข้าสู่พระนิพพาน
 
 
พระธรรมเทศนาโดย : หลวงพ่อธัมมชโย
 
 

รับชมคลิปวิดีโอ
ชมวิดีโอ   Download ธรรมะ

รายการวิดีโอที่เกี่ยวข้อง

 
บทความที่เกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชา Vesak Day
 
งานวันวิสาขบูชาที่ประเทศอินโดนีเซีย  

http://goo.gl/PMwbR


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      วันวิสาขบูชา 2566 ประวัติวันวิสาขบูชา
      วันมหาปูชนียาจารย์ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี
      วันออกพรรษา 2566 ประวัติวันออกพรรษา วันออกพรรษามีความสำคัญอย่างไร
      วันสมาธิโลก 2566 World Meditation Day
      วันอาสาฬหบูชา 2566 ประวัติความเป็นมาความสำคัญและธรรมเนียมปฏิบัติ
      วันเข้าพรรษา 2566 ประวัติวันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษามีความสำคัญอย่างไร
      วันอัฏฐมีบูชา ประวัติความสำคัญธรรมเนียมปฏิบัติในวันอัฏฐมีบูชา
      วันคุ้มครองโลก EarthDay ประวัติและความเป็นมาของวันคุ้มครองโลก
      วันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
      วันมหาปวารณา วันที่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้
      ทอดกฐินทุกวัดทั่วไทย สร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน
      เวียนเทียนวันวิสาขบูชา
      ลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  
  
  
  
  
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related